วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โรคติดเชื้อในไก่ เอเวียน เมตานิวโมไวรัส (Avian Metapneumovirus)

โรคติดเชื้อเอเวียนเมตานิวโมไวรัส มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอเวียนเมตานิวโมไวรัส (Avian metapneumovirus) เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจในไก่และไก่งวง มักเรียกโรคนี้ว่า โรคหัวบวม หรือ อาการหัวบวม (swollen-head syndrome)



ความเสียหายที่พบในไก่แต่ละชนิด

ไก่เนื้อ ผลของการติดเชื้อเอเวียนเมตานิวโมไวรัส มีความผันแปร อาจพบการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงการติดเชื้ออย่างอ่อน หรือไม่พบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาจพบการตาย อัตราการเจริญเติบโตและสมรรถภาพในการให้ผลผลิตที่ลดลง การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะการติดเชื้อ อี.โคไล ซึ่งอาจจำเป็นที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อในไก่เนื้อมักพบในช่วงระยะท้ายของการผลิตไก่เนื้อ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก เนื่องจากการคัดซากทิ้งระหว่างกระบวนการเชือด ซึ่งมีสาเหตุจากถุงลมอักเสบ

ไก่พันธุ์ มักพบอาการหัวบวมเสมอเมื่อมีการติดเชื้อเอเวียนเมตานิวโมไวรัส และมักพบการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกฟองน้ำของสมอง ซึ่งเชื่อมต่อกับหูส่วนกลางและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ส่งผลให้เกิดอาการหัวบวม และส่งผลให้เกิดอาการคอบิด ในฝูงที่ไวต่อการติดเชื้อจะพบปัญหาไข่ลด โดยอาจลดลงมากกว่า 20% ผลผลิตไข่อาจฟ้นคืนได้ช้ากว่าการติดเชื้อโรคไวรัสชนิดอื่น นอกจากนี้ยังพบปัญหาคุณภาพไข่ เช่นความแข็งแรงของเปลือกไข่ลดลง และอัตราการฟักที่ลดลงและอาจพบอาการช่องท้องอักเสบ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก

ไก่ไข่ อาการทางคลินิคในไก่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ คือพบอาการของระบบทางเดินหายใจไม่รุนแรง หรืออาจไม่พบอาการของระบบทางเดินหายใจ ในฝูงไก่ที่ไวต่อโรคอาจพบอาการคอบิด หรืออาการของระบบประสาท โดยพบผลกระทบที่สำคัญต่อคุณภาพและการให้ไข่ คือ ไก่ให้ไข่ลดลง และพบความแข็งแรงของเปลือกไข่ลดลง แต่สีของเปลือกไข่มักพบผลกระทบที่ชัดเจน ที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข่สีขาว (white egg syndrome) โดยปัญหาคุณภาพของเปลือกไข่ที่มีปัญหามักคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือไก่บางฝูงอาจพบปัญหานี้คงอยู่ตลอดไป

ที่มา : นิตยสาร zoetis

โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว

แมวสามารถติดพยาธิหัวใจผ่านทางยุงและพบพยาธิตัวเต็มวัยได้ แต่การพัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัยจะใช้เวลานานกว่าและโอกาสพบพยาธิตัวเต็มวัยมีน้อยกว่าในสุนัขมาก แมวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ อาการที่พบเกิดจากความเสียหายของพยาธิตัวอ่อนที่ตายเรียกว่า HEARTWORM ASSOCIATED RESPIRATORY DISEASE (HEAD) เช่น ไอ อาเจียน ผอมแห้ง หายใจลำบาก นอกจากนี้ การตายของพยาธิตัวเต็มวัยอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภาวะ COLLAPSE หายใจลำบาก ชัก อาเจียน ท้องเสีย ตาบอด และตาย


ในกรณีที่อาการเรื้อรังพบไอ อาเจียน หายใจลำบาก และผอมแห้ง ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาพยาธิหนอนหัวใจที่ได้รับการรับรองในแมว การรักษาควรรักษาตามอาการ เคยมีรายงานผ่าตัดเพื่อเอาพยาธิตัวเต็มวัยออกในกรณีที่พยาธิไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปกระทบหัวใจและตับ (VENACAVAL SYNDROME)

เปรียบเทียบการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว

สุนัข
  • สุนัขจัดเป็นโฮสต์จำเพาะ สุนัขที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะพบพยาธิตัวเต็มวัย
  • พยาธิตัวอ่่อนส่วนใหญ่ในปอดจะพัฒนาไปเป็นพยาธิตัวเต็มวัย
  • สุนัขที่ติดเชื้อพบพยาธิตัวเต็มวัยมากกว่า 30 ตัว
  • สุนัขที่ไม่ได้รับยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยหรือการป้องกัน จะพบ MICROFILARIAE ในเลือดและ MICROFILARIA สามารถอยู่ในเลือดได้นานหลายเดือน
  • ในกรณีโรคที่อาการรุนแรงจะพบความผิดปกติทั้งที่หัวใจและปอด
  • มียาสำหรับฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยในสุนัข
แมว
  • แมวเป็น ATYPICAL HOST การพบพยาธิตัวเต็มวัยมีโอกาสน้อย
  • พยาธิตัวอ่อนในปอดส่วนใหญ่ไม่พัฒนาไปเป็นพยาธิตัวเต็มวัย
  • แมวที่พบพยาธิตัวเต็มวัย มีพยาธิน้อยกว่า 6 ตัว (เฉลี่ย 1-3 ตัว)
  • 50% ของแมวที่มีพยาธิตัวเต็มวัยมีการสร้าง MICROFILARIAE โดยพบ MICROFILARIA ในเลือดเป็นระยะเวลาสั้น 1-2 เดือน
  • ส่วนใหญ่พยาธิจะสร้างความเสียหายที่ปอดมากกว่าหัวใจ
  • การรักษาในแมวจะเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยที่ได้รับการรับรอง ไม่แนะนำให้นำยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยในสุนัขมาใช้ในแมว
ที่มา : นิตยสาร zoetis

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การแพ่รเชื้อและระยะฟักตัวของโรคหวัดหน้าบวมในไก่

การแพร่เชื้อ : โรคนี้ติดต่อได้หลายทางเช่น การสัมผัสกับไก่ป่วย และการปนเปื้อนของเชื้อ ที่ขับออกมากพร้อมกับเสมหะในน้ำและอาหารซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้รวดเร็วแพร่ไปทั่วทั้งฝูง และแพร่ไปยังโรงเรือนใกล้เคียง นอกจากนี้เชื้ออาจแพร่มากับวัสดุอุปกรณ์ภายในฟาร์ม แกลบ และยานพาหนะ แต่การติดเชื้อที่สำคัญที่สุด คือ ไก่ติดเชื้อที่มีสุขภาพดีหรือไก่ติดเชื้อเรื้อรัง เป็นแหล่งโรคที่สำคัญ

โรคหวัดหน้าบวมมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนอากาศโดยเฉพาะจากอากาศร้อนเป็นอากาศชื้นมีฝนตก และมักเกิดร่วมกับการเปลี่ยนแปลง ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการฟาร์ม เช่น การนำไก่สาวเข้ามาในฟาร์มที่มีโรคหวัดหน้าบวมอยู่ โดยเฉพาะฟาร์มที่มีการเลี้ยงไก่หลายอายุ โดยมักเกิดขึ้นภายใน 1-6 สัปดาห์ หลังจากเคลื่อนย้ายลูกไก่จากเล้ากกไปยังเล้าไก่รุ่นที่อยู่ใกล้กับไก่ไข่ที่ติดเชื้อ และพบว่าการปนเปื้อนเชื้อมากับอากาศ สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้นภายในฟาร์มได้ (Yamamoto and Clark, 1966) ทั้งนี้โรคหวัดหน้าบวมไม่ใช่โรคที่ติดเชื้อผ่านไข่

ระยะฟักตัวของโรค : โรคหวัดหน้าบวมในไก่มีระยะฟักตัวสั้น การพัฒนาการเกิดอาการของโรคภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากไก่ได้รับเชื้อจากการเพาะเลี้ยงหรือจากสารคัดหลั่ง ถ้าไก่ที่ไวต่อการติดเชื้อสัมผัสกับไก่ป่วย มักแสดงอาการของโรคภายใน 24-72 ชั่วโมง กรณีที่ไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ระยะเวลาในการเกิดโรค ประมาณ 2-3 สัปดาห์

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุของโรคหวัดหน้าบวมในไก่

Avibacterium paragallinarum เป็นสมุฏฐาน (สาเหตุ) ของโรค เป็นแบคทีเรียแกรมลบ ไม่เคลื่อนที่ การเพาะเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง พบเชื้อมีลักษณะเป็นแท่งสั้นหรือกลมรี (coccobacilli) ซึ่งมีความยาว 1-3 มิลลิเมตร และกว้าง 0.4-0.8 มิลลิเมตร สเตรนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมักพบว่ามีแคปซูล (Sawata et al., 1980) โดยพบว่าเชื้อนี้จะเริ่มเสื่อมลงภายใน 48-60 ชั่วโมงหลังการเพาะเชื้อ โดยพบการแตกหักและการเสียรูปของแบคทีเรีย

เชื้อ A. paragallinarum ต้องใช้ V factor ในการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อม ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเชื้อที่พบในประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ต้องการ V factor (Bragg et al., 1993) ดังนั้นการจำแนกเชื้อ A. paragallinarum โดยอาศัยปัจจัยการเจริญเติบโตเฉพาะในหลอดทดลอง อาจทำให้เกิดการวินิฉัยที่ผิดพลาดได้

เชื้อ A. paragallinarum สามารถจำแนกซีโรวาร์ได้ด้วยวิธี Plate agglutination test แต่ปัจจุบันนิยมตรวจด้วยวิธี Hemagglutination Inhibition (HI) ซึ่งสามารถจำแนกเชื้อออกเป็น 3 ซีโรวาร์ คือ A B และ C วิธี HI จะทำการ fixed เม็ดเลือดแดงไก่ เพื่อลดจำนวนเชื้อที่ไม่สามารถจัดจำแนก (typing) ได้ดีกว่าการใช้วิธี Plate agglutination (Blackall et al., 1990) ปัจจุบันมีรายงานการพลสเตรน B variant (Jacob et al., 2003) สำหรับประเทศไทยสามารถพบเชื้อทั้ง 3 ซีโรวาร์ คือ A B และ C

ไก่ทุกอายุมีความไวต่อโรค แต่โรคนี้มักก่อให้เกิดความรุนแรงได้น้อยในไก่อายุน้อย ส่วนไก่ที่โตเต็มวัย พบระยะฟักตัวของโรคสั้นและช่วงเวลาในการเกิดโรคค่อนข้างยาวนาน มักพบโรคในไก่ที่อายุ 5 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเฉพาะไก่ที่กำลังให้ผลผลิตไข่ การระบาดของโรคอาจยาวนานถึง 6-8 สัปดาห์ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกภายหลังจากโรคสงบแล้ว โดยเฉพาะฟาร์มที่เลี้ยงไก่หลายอายุ ไก่พื้นเมืองพบว่ามีความไวต่อการติดเชื้อหวัดหน้าบวมมากกว่าไก่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ คือ สามารถพบโรคได้ในไก่อายุน้อย และมีความรุนแรงสูง

โรคหวัดหน้าบวมในไก่ ( Infectious Coryza )

โรคหวัดหน้าบวม (Infectious Coryza) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันในไก่ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ  สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมักมีอาการหน้า หงอน และเหนียงบวม

โรคนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากอาการของระบบทางเดินหายใจ ไก่ไข่ที่ป่วยพบว่าให้ผลผลิตไข่ลดลงร้อยละ 10-40 และอัตราการเพิ่มขึ้นของไข่ค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ หลังฟื้นจากการป่วย ปกติจะอยู่ระหว่าง 4-6 สัปดาห์ภายหลังโรคสงบ ความเสียหายที่สำคัญอีกประการคือ ไก่ที่ฟื้นตัวจากการเป็นโรคจะยังคงสภาพของการเป็นตัวนำโรค เป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 4  เดือน) แต่ในบางฝูง ระยะเป็นตัวนำโรคนี้อาจยาวนานถึง 2 ปี

ปกติโรคนี้มีมักพบในไก่ไข่และไก่พันธุ์ แต่มีรายงานการระบาดในไก่เนื้อ ร่วมกับเชื้อ Mycoplasma synoviae ซึ่งทำให้เกิดการคัดซากทิ้ง ร้อยละ 8-15 เนื่องจากถุงลมขุ่น (Droual et al., 1990) และรายงานโรคหวัดหน้าบวมในไก่เนื้อที่ไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุของการคัดซากทิ้งถึงร้อยละ 69.8 เนื่องจากถุงลมอักเสบ (Hoerr et al., 1994)

เมื่อเกิดโรคมักพบการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย และพบร่วมกับปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดความเครียด ในประเทศจีนพบการระบาดของโรคหวัดหน้าบวม รายงานว่าป่วยร้อยละ 20-50 และการตายร้อยละ 5-20 (Chen et al., 1993) ในประเทศโมร็อกโกพบการระบาดในฟาร์มไก่ไข่ 10 ฟาร์ม ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 17-41 และมีการตายร้อยละ 0.7-1.0 (Mouahid et al., 1992) สำหรับประเทศไทย พบการระบาดของโรคได้เสมอในไก่ไข่ และไ่ก่พันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดู

 
ขับเคลื่อนโดย Blogger.