วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาเหตุของโรคหวัดหน้าบวมในไก่

Avibacterium paragallinarum เป็นสมุฏฐาน (สาเหตุ) ของโรค เป็นแบคทีเรียแกรมลบ ไม่เคลื่อนที่ การเพาะเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง พบเชื้อมีลักษณะเป็นแท่งสั้นหรือกลมรี (coccobacilli) ซึ่งมีความยาว 1-3 มิลลิเมตร และกว้าง 0.4-0.8 มิลลิเมตร สเตรนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมักพบว่ามีแคปซูล (Sawata et al., 1980) โดยพบว่าเชื้อนี้จะเริ่มเสื่อมลงภายใน 48-60 ชั่วโมงหลังการเพาะเชื้อ โดยพบการแตกหักและการเสียรูปของแบคทีเรีย

เชื้อ A. paragallinarum ต้องใช้ V factor ในการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อม ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเชื้อที่พบในประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ต้องการ V factor (Bragg et al., 1993) ดังนั้นการจำแนกเชื้อ A. paragallinarum โดยอาศัยปัจจัยการเจริญเติบโตเฉพาะในหลอดทดลอง อาจทำให้เกิดการวินิฉัยที่ผิดพลาดได้

เชื้อ A. paragallinarum สามารถจำแนกซีโรวาร์ได้ด้วยวิธี Plate agglutination test แต่ปัจจุบันนิยมตรวจด้วยวิธี Hemagglutination Inhibition (HI) ซึ่งสามารถจำแนกเชื้อออกเป็น 3 ซีโรวาร์ คือ A B และ C วิธี HI จะทำการ fixed เม็ดเลือดแดงไก่ เพื่อลดจำนวนเชื้อที่ไม่สามารถจัดจำแนก (typing) ได้ดีกว่าการใช้วิธี Plate agglutination (Blackall et al., 1990) ปัจจุบันมีรายงานการพลสเตรน B variant (Jacob et al., 2003) สำหรับประเทศไทยสามารถพบเชื้อทั้ง 3 ซีโรวาร์ คือ A B และ C

ไก่ทุกอายุมีความไวต่อโรค แต่โรคนี้มักก่อให้เกิดความรุนแรงได้น้อยในไก่อายุน้อย ส่วนไก่ที่โตเต็มวัย พบระยะฟักตัวของโรคสั้นและช่วงเวลาในการเกิดโรคค่อนข้างยาวนาน มักพบโรคในไก่ที่อายุ 5 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเฉพาะไก่ที่กำลังให้ผลผลิตไข่ การระบาดของโรคอาจยาวนานถึง 6-8 สัปดาห์ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกภายหลังจากโรคสงบแล้ว โดยเฉพาะฟาร์มที่เลี้ยงไก่หลายอายุ ไก่พื้นเมืองพบว่ามีความไวต่อการติดเชื้อหวัดหน้าบวมมากกว่าไก่ที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์ คือ สามารถพบโรคได้ในไก่อายุน้อย และมีความรุนแรงสูง

Posts : Admin // 01:06
Category:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
ขับเคลื่อนโดย Blogger.